ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติศาลยุติธรรม
ศาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอยู่มากมายหลายศาลกระจายกันอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆ และมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีต่างพระเนตรพระกรรณแทนพระมหากษัตริย์ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มีการติดต่อกับชาวต่างชาติลัทธิชาวตะวันตกได้แผ่ขยายเข้ามาทำให้ระบบการศาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงมิฉะนั้นอาจเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชาติตะวันตกได้ จึงมีการปฏิรูประบบการศาลไทยขึ้นใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีบทบาทในการวางรากฐานระบบการศาลยุติธรรมโดยได้รวมศาลที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆให้มารวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีดำเนินไปด้วยความรวดเร็วถูกต้องเหมาะสมไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อน
และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางขบวนพยุหยาตรามาวางศิลาก่อพระฤกษ์อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม และทรงโปรดฯให้จารึกพระราชปรารภในการจัดตั้งศาลยุติธรรมไว้ในแผ่นเงิน ซึ่งเรียกว่า"หิรัญบัตร" มีความกว้าง 9.5 ซ.ม.ยาว 37.2 ซ.ม.จำนวน 4 แผ่น ฝังอยู่ใต้อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมบนแผ่นเงินจารึกด้วยอักษรไทยที่สวยงามและทรงคุณค่ามาก แสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดินว่ามีพระราชประสงค์ให้ตั้งศาลขึ้นเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดีทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากรและพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ
ศาลจึงเป็นสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้ และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครครบรอบ 220 ปี ซึ่งตรงกับศาลยุติธรรมครบรอบ 120 ปี ในปี พ.ศ. 2545สำนักงานศาลยุติธรรมจึงร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่มีต่อศาลยุติธรรมจึงถือเอาวันที่ 21 เมษายนของทุกปีเป็น "วันศาลยุติธรรม"
ทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2478 ได้มีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมแบ่งแยกงานศาลยุติธรรมออกต่างหากจากกันเป็นสองฝ่าย คืองานธุรการและงานตุลาการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการส่วนงานตุลาการ คือการพิจารณาพิพากษา เป็นอำนาจของตุลาการโดยเฉพาะ นับแต่ตั้งกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานธุรการของศาลยุติธรรมมาได้ 100 ปีเศษ จึงได้เกิดแนวความคิดที่จะแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้พ้นจากข้อระแวงสงสัยว่าศาลยุติธรรมอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารและไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี
จนกระทั่งได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 5 บัญญัติให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2543 จึงถือว่าศาลยุติธรรมแยกออกจากกระทรวงยุติธรรมนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ประวัติศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานี
ชื่อศาล
ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานี
ชื่อเดิม
ศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี
ที่ตั้ง สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ
ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล สี่แยกถนนอุปราชตัดกับถนนพิชิตรังสรรค์ หรือสี่แยกตลาดสดเทศบาล 2 ถนนพิชิตรังสรรค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี 34000 สภาพแวดล้อมอาณาเขตที่ตั้งศาลนั้นอยู่ในใจกลางเมืองอุบลราชธานี เป็นย่านชุมชน ทิศเหนือจดถนนพิชิตรังสรรค์ ทิศใต้จดหมู่บ้านก่อ ทิศตะวันออกจดถนนอุปราช และทิศตะวันตกจดหมู่บ้านก่อเช่นกัน
เขตอำนาจศาล
มีเขตอำนาจตลอดจังหวัดอุบลราชธานี ทั้ง ๒๕ อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอสำโรง อำเภอเหล่าเสือโก้ก อำเภอตาลสุม อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอดอนมดแดง อำเภอนาเยีย อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอทุ่งศรีอุดม อำเภอกุดข้าวปุ้น อำเภอสิรินธร อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอบุณฑริก อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอนาจะหลวย อำเภอเขมราฐ อำเภอโขงเจียม อำเภอน้ำยืน และอำเภอน้ำขุ่น
ประวัติความเป็นมาโดยย่อ
การตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยเริ่มแสวงหาที่ดินสร้างอาคารศาลและสถานพินิจตั้งแต่ พ.ศ. 2512 และ พ.ศ. 2518 จึงได้ที่ดินเป็นที่ตั้งสถานฝึกอบรมของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดอุบลราชธานี
คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2513 เห็นชอบด้วยหลักการและอนุมัติให้ดำเนินการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดอุบลราชธานี ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางได้ดำเนินการขอตั้งงบประมาณค่าก่อสร้างผูกพันต่อเนื่องกันถึง 5 ปี คือ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2519 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2523
อาคารที่ทำการหลังเดิม
อาคารศาลคดีและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2520 เวลา 07.15 นาฬิกา โดย ฯพณฯ เสมา รัตนมาลัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จัดตั้งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2523 และเปิดดำเนินการเมื่อวันพุธที่ 27 สิงหาคม 2523 โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดดำเนินการศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2523 เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดใหญ่ มีพลเมืองหนาแน่น มีเด็กและเยาวชนกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องขึ้นต่อศาลคดีเด็กและเยาวชน ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความอาญาในศาลคดีเด็กเป็นจำนวนมาก เพื่อแบ่งเบาภาระศาลจังหวัด ศาลแขวง และเพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของทางราชการ จึงจำเป็นต้องมีศาลคดีเด็กและเยาวชน สำหรับพิจารณาคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนขึ้นอีกต่างหาก
เดิมตัวอาคารศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นอาคารสามชั้น ชั้นที่สามเป็นที่ทำการศาล มีห้องพิจารณา 3 ห้อง (อาญา 2 , แพ่ง 1) ห้องทำงานของผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบ 1 ห้อง ห้องสมุด 1 ห้อง ห้องธุรการ 1 ห้อง อยู่ที่สี่แยกตลาดน้อย ถนนพิชิตรังสรรค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สองเป็นที่ทำการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดอุบลราชธานี อาคารศาลปลูกอยู่บนที่ราชพัสดุของกระทรวงยุติธรรม เนื้อที่ดิน 6 ไร่ ส่วนสถานฝึกและอบรมซึ่งประกอบด้วยตึกอำนวยการ ตึกพยาบาล เรือนนอนชาย เรือนนอนหญิง โรงฝึกงาน ห้องเรียน สนามกีฬา ฯลฯ ปลูกสร้างในที่สาธารณะ โดยความเอื้อเฟื้อของกระทรวงมหาดไทย เนื้อที่ 229 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา อยู่ที่กิโลมิตรที่ 14 ถนนชยางกูร ตำบลหัวเรือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
อาคารที่ทำการหลังเดิม
คดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ คดีอาญาที่จำเลยมีอายุเกินกว่า 7 ปีบริบูรณ์ และไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส โดยไม่จำกัดข้อกล่าวหา หรือทุนทรัพย์ เว้นแต่คดีที่ปรากฏตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 163 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2515 กำหนดให้บุคคลอายุเกินกว่า 16 ปีบริบูรณ์ กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดบางฐานของประมวลกฎหมายอาญา รวม 12 มาตรา ได้แก่ ข่มขืน อนาจาร จนผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ฆ่าผู้อื่น จับคนเรียกค่าไถ่ ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ให้ชำระคดียังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา รายละเอียดปรากฏในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ส่วนคดีแพ่ง ได้แก่ ขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ ขอรับรองบุตร ขอเป็นผู้ปกครอง ขอถอนอำนาจการปกครองเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ สิทธิและทรัพย์สินของผู้เยาว์เป็นสำคัญ
ต่อมาพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. ๒๕๒๓ และจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี จึงเป็นการเปลี่ยนชื่อจาก “ศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี” มาเป็น “ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานี” ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2535 จนถึงปัจจุบัน และให้มีเขตอำนาจตลอดจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีดังต่อไปนี้
(๑)คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด
(๒)คดีอาญาที่ศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้โอนมาตามมาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง
(๓)คดีครอบครัว ได้แก่ คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัว แล้วแต่กรณี ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(๔)คดีที่ศาลจะต้องพิพากษาหรือสั่งเกี่ยวกับตัวเด็กและเยาวชนตามบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว
ต่อมามีพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้บัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกำหนดให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดี ดังต่อไปนี้
(๑) คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด
(๒) คดีอาญาที่ศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้โอนมาตามมาตรา ๙๗ วรรคหนึ่ง
(๓) คดีครอบครัว
(๔) คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ
(๕) คดีอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว
อาคารที่ทำการหลังใหม่
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานีได้เปิดใช้งานอาคารที่ทำการหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตสี่ชั้น
ชั้นที่หนึ่ง เป็นโรงจอดรถ มีห้องควบคุมเด็กชาย 1 ห้อง ห้องควบคุมเด็กหญิง 1 ห้อง และห้องสันทนาการ 1 ห้อง
ชั้นที่สอง มีห้องผู้พิพากษาเวรชี้ 1 ห้อง ห้องธุรการ 1 ห้อง ห้องให้คำปรึกษา 2 ห้อง ห้องศูนย์ให้คำปรึกษา 1 ห้อง ห้องศูนย์ไกล่เกลี่ย 1 ห้อง ห้องประชุมไกล่เกลี่ย 2 ห้อง ห้องประชาสัมพันธ์ 1 ห้อง ห้องประชุม 1 ห้อง
ชั้นที่สาม มีห้องพิจารณาคดีอาญา 2 ห้อง ห้องพิจารณาคดีแพ่ง 2 ห้อง ห้องสืบพยานเด็ก 1 ห้อง ห้องพักอัยการและศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อแนะนำช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัว 1 ห้อง ห้องพักทนายความ/ห้องพักที่ปรึกษากฎหมายและห้องพักพยาน 1 ห้อง
ชั้นที่สี่ มีห้องพักผู้พิพากษาหัวหน้าศาล 1 ห้อง ห้องพักผู้พิพากษาอาวุโส 1 ห้อง ห้องพักผู้พิพากษา 1 ห้อง ห้องพักผู้พิพากษาสมทบ 1 ห้อง ห้องรับรอง 1 ห้อง ห้องประชุม 2 ห้อง และห้องสมุด 1 ห้อง
อาคารที่ทำการหลังใหม่